About Halal

กฎระเบียบมาตรฐานฮาลาล
ระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล พ.ศ. 2546

เพื่อให้การพัฒนาและการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลเป็นไปโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ให้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับของภาครัฐ ผู้ผลิตผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ อันจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของประเทศ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่นับถือศาสนาอิสลามภายในประเทศ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 (5) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจึงให้ออกระเบียบการดำเนินงานรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลไว้ ดังต่อไปนี้

หมวด 1 บททั่วไป

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจัดตั้งสถาบัน มาตรฐานอาหารฮาลาล พ.ศ. 2546”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่คณะกรรมการได้มีมติประกาศให้ใช้ระเบียบนี้ เป็นต้นไป
ข้อ 3 บรรดาระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ 4 ในระเบียบนี้
     “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
     “คณะกรรมการจังหวัด” หมายความว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
     “คณะกรรมการบริหาร” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารสถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล
     “ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล
     “สถาบัน” หมายความว่า สถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล
ข้อ 5 ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจวินิจฉัยตีความตามข้อกำหนดและวิธีปฏิบัติตามระเบียบนี้

หมวด 2 สถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล

ข้อ 6   ให้มีสถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล เพื่อทำหน้าที่ในการดำเนินงานการรับรองมาตรฐานอาหาร ฮาลาลภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ และมีผู้ปฏิบัติงานประจำเต็มเวลา

ข้อ 7  สถาบันมีบทบาทในการพัฒนามาตรฐาน กลั่นกรองและดำเนินการตรวจสอบ การออกใบรับรอง อาหารฮาลาลให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ให้ เป็นที่เชื่อถือยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ข้อ 8  สถาบันมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
     - ศึกษา วิจัย พัฒนาและสร้างมาตรฐานอาหารฮาลาลให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามและสอดคล้องกับมาตรฐานอาหารฮาลาลสากล
     - ศึกษา ปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไขการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลให้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับของผู้ผลิต ผู้บริโภค และองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
     - พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกิจการมาตรฐานอาหารฮาลาล เพื่อให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการสนับสนุนการผลิตและการส่งออกอาหารฮาลาล
     - ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารตามคำขอของผู้ประกอบการเพื่อเสนอผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการบริหารพิจารณา
     - ติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร วัตถุดิบ รวมถึงกระบวนการผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลไปแล้วเพื่อให้ผลิตภัณฑ์คงคุณภาพและมาตรฐานตามหลักเกณฑ์มาตรฐานอาหารฮาลาล
     - ประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานอาหารฮาลาลสากลรวมทั้งประสานงานกับองค์กรฮาลาลระหว่างประเทศและองค์กรรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลของประเทศต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อถือและการยอมรับมาตรฐานอาหารฮาลาลของประเทศไทย
     - สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานอาหารฮาลาล และการรับรองมาตรฐานอาหาร ฮาลาลเพื่อความเชื่อถือและการยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
     - ประชาสัมพันธ์การรับรองและการอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล รวมถึงการยกเลิกการรับรองและการอนุญาตแก่ผลิตภัณฑ์อาหารที่ปฏิบัติ ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามและมาตรฐานอาหารฮาลาลสากล