Travel Guide and Tips

การวางแผนการเดินทาง
การวางแผนในการเดินทาง อาจต้องใช้เวลาในการหาข้อมูลเพื่อใช้ในการเลือกวีธีการเดินทาง ช่วงเวลาที่เหมาะสม และรวมถึงสถานที่ที่เข้าพัก เป็นต้น จึงมีความจำเป็นต่อการวางแผนในการเดินทางให้ดี โดยมีข้อแนะนำดังนี้

1. หาข้อมูล

สำหรับใครที่มีที่เที่ยวอยู่ในใจ หรือ Bucket List สถานที่ที่อยากไปเยือนสักครั้งในชีวิต การหาข้อมูล ทำการบ้านไปก่อน (พออ่านๆไปสักพัก จะรู้สึกว่า เหมือนได้ไปอยู่ตรงนั้นก่อนไปเที่ยวจริงเสียอีก) ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดช่วงนึงเลยก็ว่าได้ครับ ยิ่งเดี๋ยวนี้ข้อมูลอะไรก็หาง่ายขึ้น แค่เสิชหาเอาก็เจอ บวกกับความทันสมัยของแอพต่างๆทำให้การเดินทางของเราสะดวกมากกว่าเดิม

ลองร่างแผนคร่าวๆว่าจะไปไหน อยู่ที่ละกี่วัน เดินทางโดยอะไร ยังไงบ้าง ผมเคยเขียน วิธีวางแผนเดินทางใน Google Maps แบบ Step-by-Step เอาไว้ สำหรับมือใหม่ครับ

ถ้าถามว่า “วางแผนแค่ไหนถึงจะเพียงพอ?” (คำถามนี้ ถ้าให้ตอบคงได้หลายหน้า) เอาแบบง่ายๆ ผมจะวางแผนแค่ที่เที่ยว + ทำเลที่พัก และวิธีเดินทางพอ เน้นเดินทางสะดวก ใกล้รถไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วนที่กิน ถ้าไม่ใช่ที่คนแนะนำให้ต้องไปลอง ก็จะไม่ได้หาข้อมูลไปก่อนมากเท่าไร (ไปหาเอาดาบหน้า)  

2. จัดสรร คนร่วมทริป วันเวลา ค่าใช้จ่าย

“คน เงิน และเวลา” 3 ปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึงคราวต้องจัดทริปขึ้นมาสักทริป

2.1 หาคนร่วมเดินทาง (Partner)

จากประสบการณ์ ถ้าเป็นทริปที่ไปกันหลายคน สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทริปล่ม ก็เพราะ ไม่มีคน วางแผนเที่ยว กับ หาคนไปด้วยไม่ได้ นี่หละครับ

วิธีที่ผมแนะนำคือ มองหาคนที่ชอบเที่ยวเหมือนกันและพร้อมจะลุยไปกับเราได้ (ไม่จำกัดแค่ ครอบครัว เพื่อนสนิท แฟน) อาจเป็นใครก็ได้ เพื่อน/รุ่นพี่ที่ทำงาน หรือคนที่รู้จัก ลองชวนใครสักคนในกลุ่มนี้ไปกับเราดูสิครับ แต่ถ้าไม่มีใครเอาด้วยเลย ก็ไปตัวคนเดียวนี่แหละ! (หลายคนบอกว่าเที่ยวคนเดียวสบายใจดี แต่เชื่อผมเถอะว่า มีคนไปด้วยสนุกกว่าเยอะ :D)

เรื่องคนเป็นประเด็นสำคัญ เพราะเวลาเราจองโรงแรมที่พัก ควรเลือกให้เหมาะสมกับคนที่ไปกับเรานะ เช่น ถ้าไปกับที่บ้านอาจต้องการที่พักแบบสะดวกสบายหน่อย ส่วนไปกับเพื่อนก็อาจจะลุยๆ นอน Hostel ได้

2.2 กำหนดวัน/เวลา (Schedule) และงบ (Budget) สำหรับทริป

สำหรับมนุษย์เงินเดือน หยิบปฏิทินมาเช็ควันหยุด & วันลากันให้ไว แล้วกำเงินเก็บที่ถืออยู่ในมือไว้ให้แน่นๆ (เว่อร์ปายย) เพราะเราต้องเสียสละเงินเก็บบางส่วนกับวันหยุดของเราไปกับทริปท่องเที่ยว

ถ้าไปแค่ทริปในประเทศ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ยังพอเป็นไปได้ ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าไปต่างประเทศคงต้องวางแผนกันหน่อย และต้องตอบตัวเองให้ได้ เช่น “ทริปนี้ กี่วัน” “ใครไปบ้าง” “ถ้าต้องลา ลาได้กี่วัน?” “บินกินอยู่ หรูมั้ย?” (เอาให้ครบเลย) คำถามเหล่านี้ คือตัวชี้วัดว่า ทริปเราจะเป็นยังไง เดี๋ยวนี้ปัจจัยเรื่อง “เวลา” สำคัญพอๆกับ “เงิน” เลยซะด้วยซ้ำครับ ยิ่งถ้าอยู่ในช่วงวัยทำงาน มักจะลายาวๆกันไม่ค่อยได้ พอจะลา ช่วงที่ติดกับวันหยุดก็เจอคนเยอะอีก >.<

ส่วนตัว ผมมองว่าเวลาไปเที่ยว คือการออกไปเปิดหูเปิดตา เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ให้รางวัลกับตัวเอง ประหยัดได้ก็ประหยัด แต่ก็ไม่ควรงกจนเกินไป (เช่น หอบมาม่าไปกินทุกมื้อ อันนั้นก็เกินไปหน่อย) เอาตามสมควรครับ

3. จองตั๋วเครื่องบิน & ที่พัก

3.1 ตั๋วเครื่องบิน

ตั๋วเครื่องบิน คือ ตัวแปรนึงที่มีผล (อย่างยิ่งยวด) ต่อค่าใช้จ่ายในทริปของเรา ยิ่งถ้าเส้นทางไกลๆอย่างยุโรป อเมริกา – ตั๋วเครื่องบิน คือ สิ่งที่เราต้องวางแผนการจองดีๆ ถ้าไม่อยากให้งบของเราบานปลาย

เวลาจองตั๋ว มีเว็บนึงที่ผมอยากแนะนำสำหรับการจองตั๋วเครื่องบิน เว็บนี้ชื่อว่า Traveloka

    สำหรับจองตั๋วเครื่องบิน http://www.traveloka.com/th-th/
    สำหรับจองที่พัก http://www.traveloka.com/th-th/hotel

ข้อดีของเว็บนี้คือ เราสามารถจองตั๋วเครื่องบินได้ราคาที่ดีมาก (ที่น่าทึ่งคือบางเที่ยวบินจองได้ถูกกว่าจองกับสายการบินโดยตรงเสียอีก !! หรือจองผ่านเว็บไซต์ทั่วๆไปที่เราจองกัน) แถมยังเลือกไป-กลับคนละสายการบินได้ ข้อดีอีกอย่างคือ ช่วงเทศกาลจะมีคูปองส่วนลดให้ เวลาจองก็จะได้ราคาถูกขึ้นไปอีก – สามารถติดตามสิทธิพิเศษและคูปองส่วนลดได้ที่แฟนเพจ  www.facebook.com/TravelokaTH/ ครับ

สำหรับผม นอกเหนือจากราคาค่าตั๋วแล้ว อีกอย่างที่ผมจะพิจารณาอยู่เสมอเวลาจองตั๋วเครื่องบิน คือ สายการบิน  มีข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆจากประสบการณ์ที่เคยบินกับสายการบินเหล่านี้ (ขอไม่เอ่ยชื่อสายการบินละกัน)

– สายการบินอาหรับเจ้าหนึ่ง – บริการดี ที่นั่งกว้าง ดูหนังจอทัชสกรีน อาหารเสิร์ฟบ่อย
– สายการบินอเมริกาเจ้าหนึ่ง – ที่นั่งกว้างมากก (ออกแบบมาให้ฝรั่งนั่งได้พอดี ส่วนคนไทยนั่งได้สบายๆ)
– สายการบินญี่ปุ่นเจ้าหนึ่ง – อาหารอร่อย บริการดีตามมาตรฐานคนญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนบุคคลเท่านั้นครับ โดยรวม ถ้าเป็นคนง่ายๆอะไรก็ได้ สายการบินไหนก็ไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน

3.2 โรงแรม/ที่พัก

ตกลงกับคนที่ไปทริปกับเราให้ดีว่าอยากพักแบบไหน (พักโรงแรม B&B หรือนอน Hostel) + เลือกให้เหมาะสม ส่วนมากผมดูจากรีวิว + ทำเลที่ตั้งเป็นหลัก แล้วชั่งน้ำหนักเอา

แล้วก็เวลาจองที่พัก ถ้าอยากเอาให้คุ้มค่า + ประหยัดเงินค่ากิน แนะนำให้เลือกที่พักที่มีอาหารเช้ารวมอยู่ในค่าที่พักแล้ว เพราะสามารถจัดเต็มมื้อเช้าแล้วหิ้วท้องไปถึงช่วงกลางวัน/บ่ายๆได้ (อันนี้เทคนิคส่วนตัวผมเอง)

เวลาจอง ถ้าเรามีแพลนที่ค่อนข้างแน่นอนแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรอีก แนะนำให้จองในเว็บของโรงแรม/ที่พักเองก็ดีครับ หรือจองในเว็บไซต์ใหม่ๆไม่จำกัดแค่ทางเลือกเดิมๆที่เคยจอง คือบางทีอาจได้ราคาถูกกว่าก็เป็นได้ (Traveloka ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผมเคยลองใช้จองโรงแรมมาแล้ว รู้สึกว่าราคาถูกกว่าและใช้ง่ายกว่าเยอะเลย)

แต่ถ้าแพลนเรายังไม่นิ่ง ต้องการความยืดหยุ่นสูง ให้จองที่พักแบบยกเลิกได้ฟรี ไว้ก่อน เผื่อต้องการเปลี่ยนที่พักเอาตอนใกล้ๆ/เอาไว้เป็นหลักฐานสำหรับทำวีซ่า (หลายๆทริปที่ผมไป ที่พักตอนขอวีซ่ากับตอนไปเที่ยวจริงนี่คนละที่เลย :D)

พอจองผ่านเว็บเสร็จ ได้อีเมล์ยืนยันเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นอัน… ยังง ช้าก่อนน ยังไม่จบแค่นี้ … มีอีกเรื่องที่ต้องทำ คือ เราควรอีเมล์ไปหาที่พักโดยตรง ก่อนเดินทางสัก 3-5 วัน เพื่อยืนยันว่าเราพักที่นี่ชัวร์ๆนะ – ใบ Confirmation การจอง ไม่สามารถช่วยอะไรเราได้เลย ถ้าไปถึงโรงแรมที่พักจริงแล้วเกิดไม่มีห้องว่างให้เรา เพราะโรงแรมอ้างว่าไม่มีการจองผ่านทางเว็บไซต์มา – อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ครับ (โดยเฉพาะเรื่องร้ายๆ :P) เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น ก่อนถึงวันเข้าพัก พยายามหาทางติดต่อกับโรงแรมโดยตรงให้ได้

4. จัดการเรื่องการเดินทาง (จองตั๋วรถไฟ/เช่ารถ/ซื้อประกันเดินทาง)

ต่อเนื่องจากขั้นตอนที่แล้ว พอรู้ว่าพักที่ไหน ไปเมืองไหนต่อแล้ว เราก็สามารถออกแบบวิธีการเดินทางได้  ว่าจะเดินทางโดยรถไฟ/รถไฟฟ้าหรือเช่ารถขับเอง (แต่ละแบบมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป)

– รถไฟ/รถไฟฟ้า ข้อดีคือ ง่าย สบาย คล่องตัว เหมาะกับเที่ยวชมเมืองเป็นหลัก
– เช่ารถขับ ข้อดีคือ สะดวก เหมาะกับสถานที่ที่ค่อนข้างไกล รถไฟไปไม่ถึง เช่น ออกนอกเมือง เที่ยวธรรมชาติ

ถ้าเกิดในทริปของเรามีแผนเดินทางข้ามประเทศ (เช่น นั่งรถไฟข้ามชายแดนจากสวิสมาอิตาลี หรือต้องบินจากอังกฤษไปเยอรมัน) ก็ควรจองตั๋วรถไฟ/เครื่องบินไว้ล่วงหน้าดีกว่าครับ เพื่อความปลอดภัย ดีกว่าไปหาเอาข้างหน้าแล้วไม่มี + ใช้เป็นหลักฐานแนบไปเวลาขอวีซ่าด้วย เพื่อให้เอกสารของเรา สตรอง! มากขึ้น

อีกสิ่งนึงที่หลายคนอาจมองข้ามไปคือ การซื้อประกันเดินทาง ที่คิดว่าไม่สำคัญและไม่จำเป็น ส่วนตัวผมมองว่า ถ้ามีทริปเดินทางไกลๆ ทำไว้ไม่เสียหายครับ ยอมเสียเงินหลักร้อยเพื่อความสบายใจ เผื่อกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา (เช่น ประสบอุบัติเหตุ กระเป๋าหาย เที่ยวบินดีเลย์/ยกเลิก ฯลฯ) กันไว้ดีกว่าแก้ครับ วีซ่าบางแห่ง เช่น วีซ่าเชงเก้น บังคับให้มีประกันเดินทางเป็นเอกสารประกอบการยิ่นวีซ่าเลยซะด้วยซ้ำ

5. ทำวีซ่า

ขั้นตอนนี้สำหรับคนที่ไปเที่ยวต่างประเทศที่ต้องใช้วีซ่าโดยเฉพาะ หลังจากทำแพลนเดินทาง จองเครื่องบินที่พัก จัดการเรื่องการเดินทาง เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลากรอกเอกสารเตรียมยื่นวีซ่า ทำๆไปจะเริ่มเห็นว่าต้องเตรียมโน่นนี่นั้นเยอะแยะไปหมด (สำหรับบางประเทศ) อาจเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างน่าเบื่อหน่อย แต่ก็ต้องทำครับ ไม่งั้นเราก็ออกเดินทางไม่ได้

ประสบการณ์ยื่นวีซ่า เอาคร่าวๆเท่าที่ผมเคยไปทำมา

– วีซ่าอเมริกา – ยื่นเอกสารและสัมภาษณ์ ของอเมริกาเน้นความน่าเชื่อถือเป็นหลัก ถ้าเอกสารพร้อม ตอบคำถามเคลียร์ เครดิตดี ก็เอาไปเลยวีซ่า 10 ปี! (ที่นี่ใจป้ำมาก)
– วีซ่าเชงเก้น – ยื่นเอกสารและสัมภาษณ์เหมือนกันคล้ายของอเมริกา แต่เอกสารไม่เยอะเท่า (ส่วนใหญ่จำนวนวันให้แค่เท่าที่เราไปเที่ยว แต่บางประเทศก็ให้ทีหลายเดือน)
– วีซ่าไต้หวัน – ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ถ้ามีวีซ่าอเมริกาอยู่แล้ว ยิ่งง่าย

ถ้าเกิดเรามีแผนเดินทางหลายทริปก่อนไปประเทศที่ต้องใช้วีซ่า คำแนะนำคือ ควรไปขอวีซ่าแต่เนิ่นๆ ตัวอย่างเช่น มีแผนไปอังกฤษเดือน 6 แต่มีทริปญี่ปุ่นคั่นก่อนเดือน 5 เพื่อความชัวร์ เราควรไปยื่นวีซ่าอังกฤษตั้งแต่เดือน 4

6. แลกเงิน & จัดการเรื่องอินเทอร์เน็ต

ขั้นตอนนี้สำหรับคนไปต่างประเทศอีกเช่นเดียวกัน พอวีซ่าเรียบร้อย ก็ไปแลกเงินได้ หลังจากคำนวณค่าใช้จ่ายแล้ว (ขั้นตอนที่ 2) เราก็พอรู้ว่าควรแลกไปเท่าไร หักลบกับ Fixed Cost ที่จ่ายไปก่อนแล้วอย่าง ตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ฯลฯ

เงินสดที่ใช้ในทริปส่วนใหญ่เป็น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง กับ ค่าเข้าสถานที่ ส่วนช็อปปิ้งซื้อของก็ใช้บัตรเครดิตรูดเอาได้ครับ (จะได้ไม่ต้องพกเงินสดติดตัวไปเยอะ)

อีกเรื่องที่ควรวางแผนคือ การใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศปลายทาง ซึ่งผมมองว่าสำคัญมากกกก ยิ่งถ้าเราต้องเดินทางเอง ต้องเปิดแผนที่ ต้องใช้โทรติดต่อโรงแรมที่พัก ยังไงก็ต้องใช้ วิธีใช้เน็ตมี 4 ทางเลือกคือ

1. เปิด Roaming ไปจากไทย – เหมาะสำหรับนักธุรกิจที่ต้องติดต่องานตลอดเวลา เปิดการใช้งานไม่ยุ่งยาก แต่ราคาค่อนข้างสูง
2. เช่าเครื่องพ็อคเก็ต Wifi – เหมาะสำหรับเดินทางหลายประเทศ เช่าเครื่องเดียวใช้ได้หลายคน และไม่ต้องเสียเวลาไปหาซื้อซิมมาใส่เอง
3. ซื้อซิมท้องถิ่น – เหมาะสำหรับเดินทางประเทศเดียวนานๆ ซื้อซิมจะคุ้มกว่า อย่างสวิสที่ผมเคยไปเจอโปรโมชั่น Net Unlimited ใช้งานได้ 10 วัน ในราคาไม่เกิน 500 บาท ถือว่าถูกมากๆ
4. ถ้าเป็นคนไม่ติดโซเชี่ยลมาก ก็ไม่ต้องทำไรทั้งสิ้น ไปหา Wifi ฟรีเอาข้างหน้า ตามร้านกาแฟ โรงแรมที่พัก ส่วนใหญ่จะมีให้อยู่แล้วครับ

แต่ละทางเลือกก็มีข้อดีข้อเสียคนละแบบ ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนที่ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด

7. แพ็คกระเป๋า เตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น

มาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ว่าด้วยเรื่องของ สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการเดินทาง เป็นขั้นตอนที่ ถ้าให้เขียนนี่ เขียนได้อีกยาวเลย ในบทความนี้จะเขียนแบบสรุปๆพอได้ไอเดีย เผื่อเอาไว้เป็นแนวทาง โดยจะแบ่งสิ่งที่ต้องเตรียมออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มแรก ยาสามัญประจำทริป เช่น ยาแก้ปวดหัวลดไข้ ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้อาการภูมิแพ้ ยาแก้เมารถ/เรือ/เครื่องบิน รวมถึงยาเฉพาะสำหรับคนที่มีโรคประจำตัวด้วยนะครับ

กลุ่มที่สอง ของใช้อิเล็กทรอนิกส์ เช่น กล้องถ่ายรูป (รวมถึงเลนส์และขาตั้งกล้อง) โน้ตบุ๊ค รางปลั๊ก หัวแปลงไฟ สายชาร์จ Card-Reader Powerbank เยอะแยะมากมาย

กลุ่มที่สาม ของใช้ในห้องน้ำ เช่น สบู่ แชมพู (ส่วนใหญ่พวกนี้จะมีให้ตามโรงแรม แต่ติดไปดีกว่ากันเหนียว) แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ทิชชู่ ฯลฯ

กลุ่มสุดท้าย เสื้อผ้า เช็คสภาพอากาศเป็นหลัก ถ้าอากาศหนาวควรติดถุงมือ ผ้าพันคอ ลองจอน ฯลฯ ทำให้ร่างกายอบอุ่นไว้ก่อน แต่ถ้าอากาศร้อนก็ใส่แค่บางๆพอ จัดกระเป๋าเอาไปแค่พอประมาณไม่ต้องถึงขนาดบ้าหอบฟาง